เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [4. จตุกกนิบาต] 2. ปุจิมันทวรรค 9. ติตติรชาดก (319)
[65] พวกท่านร้องไห้ถึงคนที่ตายไปแล้วเท่านั้น
แต่หาได้ร้องไห้ถึงคนที่จักตายไม่
สัตว์ทั้งหลายที่ยังมีร่างกายอยู่ย่อมละชีวิตไปโดยลำดับ
[66] เทวดา มนุษย์ สัตว์ 4 เท้า หมู่ปักษี สัตว์เลื้อยคลาน
และสัตว์ที่มีร่างกายใหญ่ ไม่เป็นใหญ่ในร่างกายของตน
ถึงจะรื่นรมย์อยู่ในร่างกายนั้นก็ย่อมละชีวิตของตนไป
[67] สุขและทุกข์ที่เพ่งเล็งกันอยู่ในหมู่มนุษย์
มีความแปรผันไม่ยั่งยืนอย่างนี้
ความร่ำไห้คร่ำครวญเป็นสิ่งไร้ประโยชน์
ทำไมท่านจึงยังเศร้าโศกอยู่เล่า
[68] นักเลงก็ดี นักดื่มก็ดี คนไม่ได้รับการศึกษาก็ดี
คนโง่ก็ดี คนมุทะลุก็ดี คนไม่มีความเพียรก็ดี
คนไม่ฉลาดในธรรมก็ดี ย่อมเข้าใจนักปราชญ์ว่าเป็นคนโง่
มตโรทนชาดกที่ 7 จบ

8. กณเวรชาดก (318)
ว่าด้วยหญิงหลายใจระลึกถึงความหลังใต้ต้นยี่โถแดง
(พวกนักฟ้อนได้ฟ้อนรำได้ขับเพลงขับนี้ว่า)
[69] นางสามา ที่ท่านสวมกอดในเวลาที่อยู่ใต้กอต้นยี่โถแดง
ฝากข่าวมาบอกท่านถึงความที่ตนสบายดี
(โจรโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวกับนักฟ้อนว่า)
[70] ผู้เจริญ ข่าวที่ว่า ลมพัดพาภูเขาไปได้ ข่าวนี้ไม่น่าเชื่อถือ
ถ้าลมจะพัดพาภูเขาไปได้ ก็พึงพัดพาแผ่นดินแม้ทั้งหมดไปได้
ก็นางสามาตายแล้วจะฝากข่าวมาบอกพวกเรา
ถึงความที่ตนสบายดีได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :170 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [4. จตุกกนิบาต] 2. ปุจิมันทวรรค 9. ติตติรชาดก (319)
(นักฟ้อนกล่าวว่า)
[71] นางสามายังไม่ตายเลย และไม่ต้องการชายอื่น ได้ข่าวว่า
นางสามากินอาหารมื้อเดียว ยังต้องการแต่ท่านเท่านั้น
(โจรโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[72] นางสามาได้เปลี่ยนเอาเราผู้ไม่เคยเชยชิด
กับชายผู้เคยเชยชิดกันมานาน
นางสามาคงจะเปลี่ยนเอาชายอื่นผู้ไม่ใช่ขาประจำ
กับเราผู้เป็นขาประจำแน่นอน เราจะไปจากที่นี้ให้ไกลแสนไกล
กณเวรชาดกที่ 8 จบ

9. ติตติรชาดก (319)
ว่าด้วยนกกระทา
(นกกระทาถามดาบสโพธิสัตว์ว่า)
[73] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าอยู่สบายดี
และได้บริโภคอาหารตามชอบใจ ข้าพเจ้ากำลังอยู่ในอันตราย
คติของข้าพเจ้าจะเป็นอย่างไรหนอ
(ดาบสโพธิสัตว์ตอบปัญหาของนกกระทาว่า)
[74] ปักษี ถ้าใจของเธอไม่น้อมไปเพื่อกรรมชั่ว
บาปก็ไม่แปดเปื้อนเธอผู้เป็นคนดี
ไม่ขวนขวายในการกระทำกรรมชั่ว
(นกกระทาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[75] นกกระทาจำนวนมากมาด้วยเข้าใจว่า
ญาติของพวกเราจับอยู่ที่นี้
ย่อมประสบเคราะห์กรรมเพราะอาศัยข้าพเจ้า
ใจข้าพเจ้ารังเกียจในกรรมชั่วนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :171 }